Monday, 10 December 2018

เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อชีวิตที่เพียงพอ


    หลาย ๆ คนอาจเคยได้ยิน ได้เห็น ได้เรียนรู้ คำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" กันมาบ้าง แต่น้อยคนนักที่จะหยิบยกพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ซึ่งพระราชทานแนวความคิดมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน 


 "เศรษฐกิจพอเพียง" ไม่ได้มุ่งเน้นให้ประชาชนทุกคนหันไปทำการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว แต่ เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน การทำธุรกิจ การวางแผน การดำเนินชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี ยิ่งในยุคปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีเข้ามาทำให้การใช้ชีวิตสะดวกสบาย มีค่าความนิยมต่อวัตถุสูงกว่าค่าแรงและเงินในกระเป๋า มีระบบสื่อสารที่รวดเร็วทันสมัย แต่สวนทางกับสภาพการเมืองและสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังถดถอย สิ่งแวดล้อมที่กำลังเสื่อมโทรม การพึ่งพาตนเองเริ่มน้อยลง



Photo By : Pung′Noey

     เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาของรัชกาลที่ ๙ ทรงชี้แนะแนวทางให้แก่ประชาชนทุกคน ให้ดำรงตนอยู่บนพื้นฐานทางสายกลาง ความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ และสร้างภูมิคุ้มกันในตนเอง เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

   เศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย

๑. ความพอประมาณ คือ ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

๒. ความมีเหตุผล คือ การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียง จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ

๓. ภูมิคุ้มกัน คือ การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่เกิดจะขึ้น  โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

   โดยมี เงื่อนไข ๒ ประการ ดังนี้

๑. เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วยความรอบรู้ เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผนและความระมัดระวังในการปฎิบัติ

๒. เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

      หนึ่งในพระบรมราโชวาท ที่กล่าวไว้เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๑๗

"คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่ทันสมัย แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนา ที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน มีความสงบและทำงานตั้งจิตอธิษฐานตั้งปณิธาน ในทางนี้ที่จะให้เมืองไทย อยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่มีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้"



     จากแนวพระราชดำริ และ พระบรมราโชวาทนี้ จะเห็นได้ว่าพระองค์ท่าน ทรงเน้นให้ประชาชนพอมีพอกิน ให้ดำเนินชีวิตด้วยความเพียร ความอดทน มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัตถุ สังคม และวัฒนธรรมโลกภายนอก ซึ่งจะนำไปสู่ "ความสุข" ในการดำเนินชีวิตที่แท้จริง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

มูลนิธิชัยพัฒนา (เศรษฐกิจพอเพียง)




ความเจริญที่แท้จริง คือ ความเจริญทางจิตใจ

ความพอเพียงที่แท้จริง คือ ความเพียงพอที่พอใจ

เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อชีวิตที่เพียงพอ


Pung′Noey :)



No comments:

Post a Comment