![]() |
ขอบคุณรูปภาพจาก www.canva.com |
ในยุคสภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ค่าครองชีพสูง กำลังการใช้จ่ายเข้าสู่สภาวะถดถอย ทำให้หลาย ๆ บริษัท ต้องปรับโครงสร้างการบริหาร ปรับลดจำนวนพนักงาน ลดค่าใช้จ่ายเพื่อความอยู่รอดขององค์กร ซึ่งสำหรับชาวมนุษย์เงินเดือนแล้ว สิ่งที่ไม่อยากพบเจอนั่นก็คือ การตกงาน ว่างงาน แบบกะทันหัน
หากคุณต้องพบเจอเหตุการณ์เช่นนี้ นอกจากการตั้งสติรับมือแล้ว คุณยังต้องรู้จักรักษาสิทธิของตนเอง ดังนั้นบทความนี้จะพาคุณไปพบเกร็ดความรู้ขั้นพื้นฐาน เพื่อรับสิทธิว่างงานจาก สำนักงานประกันสังคม
ขั้นตอนที่ 1 ตรวจสอบสิทธิประกันสังคม
สำหรับผู้ที่จะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคม ต้องเป็นผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างกับกับนายจ้างรายสุดท้าย ซึ่งมีระยะเวลาการว่างงานตั้งแต่ 8 วันขึ้นไป
สิทธิที่จะได้รับในระหว่างการว่างงาน
จะได้รับเงินทดแทนปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้าง โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เช่น ถ้าคุณมีเงินเดือนเฉลี่ย เดือนละ 10,000 บาท คุณจะได้รับค่าชดเชยเดือนละ 3,000 บาท
- กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง
จะได้รับเงินทดแทนปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท เช่น ถ้าคุณมีเงินเดือนเฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท คุณจะได้รับค่าชดเชยเดือนละ 5,000 บาท
- กรณีถูกเลิกจ้าง
โดยผู้ที่ว่างงานต้องไม่ถูกเลิกจ้างด้วยสาเหตุ ดังต่อไปนี้
- ทุจริตต่อหน้าที่กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือ ระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณีร้ายแรง
- ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร
- ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
- ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
- ต้องมิใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ
ขั้นตอนที่ 2 ขึ้นทะเบียนและรายงานตัวกับ กรมการจัดหางาน
หากคุณตรวจสอบแล้วว่าคุณมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ขั้นตอนต่อมาคือการขึ้นทะเบียนและรายงานตัวกับ สำนักงานจัดหางานของรัฐ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้าง หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง สามารถขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ที่เว็บไซต์ https://empui.doe.go.th จากนั้นระบบจะออกเอกสารหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันในการขึ้นทะเบียนรับสิทธิว่างงานของสำนักงานประกันสังคม โดยผู้ว่างงานต้องรายงานตัวตามกำหนดนัดผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของสำนักงานจัดหางาน ไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง
ขั้นตอนที่ 3 ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงานกับ สำนักงานประกันสังคม
หลักฐานที่ต้องใช้เพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน มีดังนี้
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)
- หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
- หนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงานของกรมการจัดหางาน
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชี ผ่าน 11 ธนาคาร ดังนี้
1.) ธนาคารออมสิน
2.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
3.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
4.) ธนคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
5.) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
6.) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
7.) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
8.) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
9.) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
10.) ธนคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
11.) ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน)
สถานที่ยื่นเรื่อง : สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ / สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาทั่วประเทศ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรสายด่วน 1694 ในวันและเวลาราชการ 08.30-16.30 น.
ขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานประกันสังคม
กรมการจัดหางาน
"อย่าปล่อยให้ตกงานแล้วค่อยเปลี่ยนแปลง
จงสร้างการเปลี่ยนแปลงก่อนเริ่มว่างงาน"
Pung′Noey :)
No comments:
Post a Comment