ขอบคุณรูปภาพจาก https://pixabay.com |
บทความนี้ ขออนุญาตแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวสำหรับการบริหารเงินเดือนในแบบฉบับมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้น้อย ไม่มีรายได้เสริม และ "ไม่ได้เน้นทำแล้วต้องรวย"
สำหรับ 4 เทคนิคขั้นพื้นฐานในการบริหารเงินเดือน ประกอบด้วย
1. รู้จักประเมินตนเองก่อน นี่คือวิธีแรกที่เราควรสำรวจตัวเองก่อนว่า ณ วันนี้เรามีรายได้เท่าไร มีรายจ่ายเท่าไร จะสามารถเหลือเก็บได้เท่าไร เพราะแต่ละคนมี Fixed Cost ที่ไม่เท่ากัน ภาระทางการเงินที่แต่ละคนต้องรับผิดชอบย่อมแตกต่างกันไป เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าผ่อนบัตรเครดิต ค่าเดินทาง ค่าท่องเที่ยว ค่าใช้จ่ายดูแลลูก ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ซึ่งบางรายจ่ายมันเป็นค่าใช้จ่ายที่ค้ำคอ ไม่จ่ายก็ไม่ได้ พยายามประหยัดขนาดไหนก็ต้องจ่ายอยู่ดี ดังนั้น ...
การประเมินตนเองที่ดีและได้ผลลัพธ์มากที่สุด คือ ประเมิน ประมาณการ และ วางแผน ก่อนการใช้จ่าย หรือ ก่อนการสร้างหนี้ บางครั้งความอยากได้ อยากมี คือสิ่งที่เราต้องต่อสู้ภายในจิตใจ หากเราเอาชนะใจตัวเองได้ มันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการบริหารชีวิต ซึ่งสมการในการประเมิน คือ
รายได้ - หนี้สิน = ความมั่นคงทางการเงิน
สมการนี้เป็นสิ่งที่จะสะท้อนว่าความมั่นคงทางการเงินของเราอยู่ในภาวะเสี่ยงหรือไม่ เราควรวางแผนทางการเงินให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานะเงินเดือน สภาวะเศรษฐกิจ ในปัจจุบัน
2. เก็บออมก่อนใช้จ่าย สำหรับคนมือรั่ว มีเงินเท่าไรก็ใช้หมด นี่คือวิธีหักดิบและถือเป็นการสร้างวินัยที่ได้ผลดีอีกวิธีหนึ่ง ควรเขียนสมการเงินออมไว้ดังนี้
รายได้ - เงินออม = ค่าใช้จ่าย
ซึ่งวิธีออมเงินขั้นพื้นฐาน ที่ทุกคนสามารถทำได้นั่นคือ
- ออมเงินโดยเปิดบัญชี เงินฝากประจำ (Fixed Deposit Account) เป็นบัญชีที่เหมาะกับการออมแบบมีระยะเวลาที่แน่นอน เช่น 3 เดือน , 6 เดือน , 24 เดือน เป็นต้น การฝากเงินแต่ละครั้งธนาคารจะกำหนดจำนวนขั้นต่ำไว้ เช่น 1,000 - 10,000 บาท ต่อเดือน มีหลายธนาคารให้คุณได้เลือกฝากประจำแบบปลอดภาษีและใหัอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูง ...
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เงินฝากปลอดภาษี (24 เดือน) ที่ไหน...ดอกเบี้ยสูง ดูได้ที่นี่ (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ธ.ค. 61)
- ออมเงินโดยการซื้อ สลากออมสิน หรือ สลากออมทรัพย์ ธ.ก.ส. เป็นการฝากเงินประเภทหนึ่งคล้าย ๆ กับการฝากประจำ แถมมีโอกาสได้ลุ้นเงินรางวัลในการถูกสลากอีกด้วย การซื้อสลากเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนเงินให้เป็นสินทรัพย์ นั่นหมายความว่า หากเราไม่อยากถือเงินสดเพื่อลดโอกาสในการใช้จ่าย เราจึงเปลี่ยนรูปเงินสดในมือให้เป็นสินทรัพย์ที่ยังมีมูลค่าเท่าเดิม หากครบกำหนดระยะเวลาในการถือครองเราก็จะได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่ธนาคารกำหนด แม้ดอกเบี้ยสลากจะไม่สูงจนดูไม่น่าลงทุน ก็ยังถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีในการรู้จักอดทน อดกลั้น รอคอยเวลาในการออมเงิน ...
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สลากออมสิน และ สลาก ธกส. คืออะไร คุ้มค่าไหม ซื้อยังไง ให้ผลตอบแทนยังไง เรามีคำตอบ
- ออมเงินโดยการ หยอดเงินใส่กระปุกออมสินอย่างน้อยวันละ 20 บาท เป็นการออมเงินระดับเด็กอนุบาลแต่ช่วยให้เรามีชีวิตรอดตอนสิ้นเดือนได้เป็นอย่างดี การออมเงินวิธีนี้สืบเนื่องมาจากพฤติกรรมที่ว่า "เงินเดือนน้อยนิด ชีวิตติดหรู" คือ ช่วงสัปดาห์แรกที่เงินเดือนออก หลังจากหักเก็บเงินออม และเห็นจำนวนเงินเหลือใช้จ่ายแล้ว เราจะฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ จนลืมนึกถึงชีวิตสิ้นเดือน ดังนั้นการหยอดเงินใส่กระปุกอย่างน้อยวันละ 20 - 30 บาท ใช้เวลาเก็บประมาณ 20 วัน มันทำให้เรามีเงินใช้ประมาณ 400-600 บาท เราสามารถนำมาใช้จ่ายช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนเงินออกได้ ถือเป็นการต่อลมหายใจสำหรับชาวมนุษย์เงินเดือน
3. หนี้สินมีต้องรีบใช้ นี่เป็นอีกข้อนึงที่สำคัญในการบริหารเงิน หากเป็นไปได้เราไม่ควรมีหนี้สินที่ต้องชำระต่อเดือนเกิน 40% ของเงินเดือน เช่น เงินเดือน 10,000 บาท ควรมีหนี้ได้ไม่เกิน 4,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 6,000 บาท ควรจะแบ่งไปเป็นเงินเก็บ และ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เราสามารถสร้างหนี้ได้โดยที่เราไม่เดือดร้อน หากเรามีความพร้อมและความรับผิดชอบในการชำระหนี้ การชำระหนี้ให้ตรงต่อเวลานอกจากจะไม่เสียดอกเบี้ยเงินปรับแล้ว ยังถือเป็นการสร้างเครดิตที่ดีให้กับตัวเราเอง
4. ทำใจให้มีสุข รู้หรือไม่? การกล่าวขอบคุณตัวเราเองในทุก ๆ เรื่องที่เราทำได้ในแต่ละวัน มันเป็นการเติมความสุขและเติมกำลังใจให้เราเป็นอย่างดี ร่างกายเราเหนื่อยล้าจากการทำงาน สมองเราเหนื่อยล้าจากการวิเคราะห์ แก้ไข วางแผน ดังนั้น เราไม่ควรเหนื่อยใจให้กับอะไรทั้งสิ้น จิตใจที่เข้มแข็งจะส่งผลต่อสมองและพละกำลัง ไม่ต้องรอเก็บเงินให้ได้หลักล้านแล้วค่อยภูมิใจ ไม่ต้องรอให้หมดหนี้แล้วค่อยพอใจ แต่เราจงภูมิใจและพอใจในทุก ๆ วันที่ลงมือทำ ... "เงินเดือนน้อยค่อย ๆ เก็บ ... ความสุขน้อยค่อย ๆ เติม"
รู้จักประเมินตนเองก่อน
เก็บออมก่อนใช้จ่าย
หนี้สินมีต้องรีบใช้
ทำใจให้มีสุข
Pung′Noey :)
ทำใจให้มีสุข
Pung′Noey :)
⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐
No comments:
Post a Comment