Thursday, 29 November 2018

วิเคราะห์ตัวเองด้วยเทคนิค SWOT Analysis


การวิเคราะห์ตัวเองด้วยเทคนิค SWOT Analysis คืออะไร? 

แล้วทำไมจึงต้องวิเคราะห์ตัวเอง?

ขอบคุณรูปภาพจาก www.canva.com


     ก่อนอื่นจะพาทุกคนไปรู้จักคำว่า SWOT กันก่อน


     การวิเคราะห์ SWOT (สวอต) เป็นเครื่องมือในการประเมินสถานการณ์สำหรับองค์กร ใช้ในการบริหารธุรกิจ ซึ่ง SWOT เป็นเทคนิคที่ใช้ศึกษาในหลักสูตร Marketing Management ถูกคิดค้นโดย ศาสตราจารย์ อัลเบอร์ต ฮัมฟรีย์ (Albert Humphrey) แห่งมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ต โดยคิดค้นขึ้นระหว่างปี ค.ศ.1960-1970

     ความหมายของ SWOT คือ



  • S     มาจากคำว่า     Strength           หมายความว่า      จุดแข็ง
  • W   มาจากคำว่า     Weakness         หมายความว่า      จุดอ่อน
  • O    มาจากคำว่า     Opportunity    หมายความว่า       โอกาส
  • T    มาจากคำว่า      Threat             หมายความว่า       อุปสรรค

     ดยสามารถแบ่ง SWOT ออกเป็นกลุ่มหลัก ได้ 2 กลุ่ม คือ

  1.  ปัจจัยภายใน (Internal Factor) เป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ ประกอบไปด้วย S และ W
  2.  ปัจจัยภายนอก (External Factor) เป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก หรือ ไม่สามารถควบคุมได้ ประกอบไปด้วย O และ T

     ทีนี้ทุกคนคงจะพอรู้จัก SWOT กันคร่าว ๆ ไปแล้ว ดังนั้นเรามาดูกันต่อว่าเราจะสามารถนำเทคนิค SWOT Analysis มาวิเคราะห์ตัวเองได้อย่างไรบ้าง ซึ่งต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการวิเคราะห์ตัวเองของผู้เขียน

  • จุดแข็ง (Strength)
1. เป็นคนรักความถูกต้อง ความยุติธรรม
2. มีมนุษย์สัมพันธ์ดี ชอบช่วยเหลือผู้อื่น
3. มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง
4. มีความซื่อสัตย์ อดทน มั่นคงในความคิดของตัวเอง
5. มีความสนใจและชื่นชอบในด้านงานเขียนและจิตวิทยา

  • จุดอ่อน (Weakness)
1. ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบเพ้อฝันเกินจริง
2. ไม่มีภาวะความเป็นผู้นำ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง
3. ไม่ค่อยขวนขวายหาความรู้ ปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์
4. มีความขี้เกียจ (ในบางเวลา) ชอบหาข้ออ้างในการผัดวันประกันพรุ่ง
5. เป็นคนพูดจาขวานผ่าซาก มีความเป็นตัวเองสูงจนดูเหมือนคนก้าวร้าว


  • โอกาส (Opportunity)
1. ในยุคปัจจุบันมีแหล่งเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการศึกษาค้นคว้า หาความรู้เพิ่มเติม หาแรงบันดาลใจในสิ่งที่สนใจ ได้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ หรือ โซเชียลมีเดียต่าง ๆ
2. การเติบโตของ Digital Marketing เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สิ่งที่เราสนใจ สิ่งที่เราอยากสื่อสาร สามารถส่งออกไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด รวดเร็ว และหลากหลายช่องทาง
3. ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวในช่วงที่ว่างงาน เพื่อมีโอกาสได้ทำตามความชอบ ความสนใจ

  • อุปสรรค (Threat)
1. จากสภาวะเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ในปัจจุบันส่งผลให้การหางานประจำค่อนข้างยากลำบาก
2. จากการเติบโตของโลก Online หากต้องการทำงานหารายได้จากงานเขียน ไม่ว่าจะเป็น รับจ้างเขียนบทความ ทำ Blog หรือ Website อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีคู่แข่ง และ Content ที่น่าสนใจเพิ่มมากขึ้น
3. เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจเกิดการปรับตัว ปรับเปลี่ยนองค์กร รวมทั้งเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ส่งผลให้ทุกภาคส่วนลดต้นทุน ค่าใช้จ่าย จึงเกิดภาวะการว่างงานสูงและการแข่งขันก็สูงตาม 


     อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่าแล้วเราจะวิเคราะห์ตัวเองไปทำไมล่ะ ในเมื่อ SWOT มันเป็นหลักการที่ใช้วิเคราะห์สำหรับธุรกิจ จะเอามาวิเคราะห์ตัวเองไปเพื่ออะไร ... ผู้เขียนอยากบอกว่า ประโยชน์ของ SWOT ไม่ได้แค่ใช้ในเชิงธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับหลาย ๆ เรื่อง เช่น การวิเคราะห์ต้วเอง การเรียน การทำงาน  เป็นต้น 

     ดังนั้นบทความนี้เขียนขึ้นมาเพื่อให้ผู้อ่านได้ให้เวลาทบทวนชีวิตของตัวเองบ้าง เมื่อคุณวิเคราะห์ได้ครบทุกข้อ จงลองจับคู่จุดแข็งกับโอกาสว่าคุณมีศักยภาพสำหรับโอกาสที่คุณมีหรือยัง หรือ ลองจับคู่จุดอ่อนกับอุปสรรคว่าจะวางแผนหาแนวทางแก้ไขได้อย่างไรบ้าง 

     คุณเคยได้ยินไหมว่า "รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง" หากคุณจะประกอบธุรกิจ คุณยังไม่รู้ จุดแข็ง จุดอ่อน ไม่มองหาโอกาส ไม่ศึกษาอุปสรรค โอกาสที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จมันก็เป็นไปได้ยาก 

     เช่นเดียวกันกับตัวเรา หากเรายังไม่เคยได้ทำความรู้จักตัวเราเอง ยังมองไม่เห็นข้อดี ข้อเสีย แล้วเราจะปรับปรุง พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้อย่างไร ผู้เขียนไม่ใช่คนเก่ง ไม่ใช่คนมีความรู้มากมาย และ ณ ขณะนี้ยังไม่ใช่บุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิต แค่อยากแบ่งปันแนวความคิดที่รู้สึกว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านเท่านั้นเอง 🌝


"ความรู้ในตำรา เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับตัวเราได้ 
และมันจะมีคุณค่ามากขึ้นไปอีกหากเรานำประสบการณ์จากการเรียนรู้มาแบ่งปัน"


Pung′Noey :)

Tuesday, 27 November 2018

5 วิธีคิด เมื่อชีวิตถูกบอกเลิก!!


     เมื่อพูดถึงเรื่องของหัวใจ ใคร ๆ ก็อยากจะมีความรัก อยากเป็นที่รักของใครสักคน ไม่ได้คิดล่วงหน้า ไม่ได้เตรียมตัวไว้ว่าวันนึงชีวิตรักต้องเลิกรา ห่างหายกันไป เมื่อความรักไม่ได้เป็นไปตามที่วาดฝันไว้ แน่นอนว่าความทุกข์ ระทม ความเสียใจต้องมาเยือนโดยมิได้นัดหมาย แล้วควรทำอย่างไรถ้าต้องเจอเหตุการณ์เช่นนี้


    
Photo By : Pung'Noey



 ต่อไปนี้ คือ 5 วิธีคิด เมื่อชีวิตถูกบอกเลิก


1. ถ้าคุณอยากร้องไห้ จงร้องมันออกมาจนสาแก่ใจ
     
     คุณจะร้องไห้ จะบ้าบอคอแตกยังไง จะแสดงออกถึงความเสียใจมากมายขนาดไหนก็ทำมันให้เต็มที่ เพียงแต่อย่าไปฟูมฟายจะเป็นจะตายต่อหน้าคนที่คุณไม่คุ้นเคยก็พอ ที่สำคัญอย่าไปใส่อารมณ์กับคนที่ทิ้งคุณไป มันไม่มีประโยชน์อะไร ต่อให้เขาทำคุณเจ็บปวดมากมายขนาดไหนจงโปรดจำเอาไว้ว่าเขาเป็นแค่อดีต ถ้าคุณเสียใจก็แค่ร้องไห้ออกมา ร้องออกมาให้สุด แล้วหยุดที่คำว่า "พอ" จากนั้นก็รวบรวมเอาสติที่คุณมีเดินหน้าต่อไป

2. ตั้งสติให้ดี แล้วคิดใหม่อีกทีว่าเสียใจเพราะอะไร

     คุณเสียใจเพราะว่าเขาไม่รักคุณ หรือ เพราะว่าคุณไม่รักตัวเอง หรือ เพราะโกรธแค้นที่เขาทิ้งคุณไป หรือ เพราะว่าเขานอกใจหลอกลวงคุณ หรือ เพราะว่าเจ็บปวดจากการอับอายชาวบ้าน ไม่ว่าเหตุผลของการเสียใจจะคืออะไร สิ่งที่คุณควรทำคือการยอมรับความจริง บอกกับตัวเองไว้ "เสียใจให้ตายเขาก็ไม่กลับมา"

3. การเลิกกันมันไม่ได้หมายความว่าคุณทำอะไรผิด

     หากตลอดเวลาที่คบกันคุณทำหน้าที่แฟนอย่างเต็มที่ ตราบที่คุณไม่ได้นอกใจ ไม่ได้คบชู้ ให้เกียรติในคู่ของคุณ ก็จงปล่อยวางความเสียใจนั้นซะ จงบอกกับตัวเองว่าใคร ๆ ก็เคยเลิกกับแฟนกันทั้งนั้น เพียงแค่วันนี้คุณและเขาเข้ากันไม่ได้ จะโทษตัวเองต่อไปก็ไม่มีประโยชน์ แถมเป็นการลดคุณค่าของตัวคุณเองด้วยซ้ำ การสร้างความเจ็บช้ำให้กับตัวเองมันไม่ได้ส่งผลให้มีอะไรดีขึ้นมา "การตามหาคนทำผิดมันไม่ใช่ทางออกของปัญหา"

4. โลกยังไม่พัง เดินลำพังก็ยังไหว

     "คุณแค่เลิกกับแฟน โลกมันยังไม่ได้แตกสลาย ไม่มีความจำเป็นที่ต้องมาดิ้นทุรนทุราย อย่าลืมว่า ผู้หญิง / ผู้ชาย ไม่ได้มีคนเดียวบนโลก" จงให้กำลังใจตัวเองบ้าง ถ้าให้กำลังใจตัวเองไม่ไหวก็ลองหลอกตัวเองบ้างก็ได้ การใช้ชีวิตคนเดียวมันไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น การเจอคนรักที่ไม่ดีเจอความรักที่ไม่ดีมันน่ากลัวกว่าเยอะ คนที่ไม่มีแฟนมีเป็นร้อยล้านคนบนโลกใบนี้ เขายังใช้ชีวิตอยู่กันได้เลย โลกใบนี้ไม่ได้มีแค่คุณคนเดียวที่โสด

5. คุณได้อะไรจากความรักครั้งนี้

     คุณเคยได้ยินไหมว่า "ทุกคนจะเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นเมื่อได้มีความรักและเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นอีกหลังจากอกหัก" อยากให้คุณลองทบทวนในความสัมพันธ์ที่ผ่าน ๆ มาว่าเรามีข้อดี ข้อเสีย ในเรื่องใด มีอะไรบ้างที่ควรรักษาไว้ อะไรบ้างที่ควรปรับปรุงต่อไป เพราะความรักมันเปรียบเหมือนบทเรียนหนึ่งของชีวิต "ความรักที่มีคุณค่า คือ ความรักที่เรานำมาพัฒนาตัวเอง"


     ไม่ว่าวันนี้คุณจะเป็นคนโสดที่ปราศจากการโหยหาความรัก หรือ เป็นคนที่มีความรักจนล้นเต็มอก หรือ เป็นคนที่ทุกข์ทนกับการอกหักจนไม่อยากหายใจ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะใด ขอให้สติจงบังเกิดแก่คุณ "เพราะสติจะนำไปสู่ซึ่งความสุข" ใครจะเลิกรักเราไม่เป็นไร ขอแค่เราอย่าเลิกรักตัวเองก็พอ ...  


Pung′Noey :)

Monday, 26 November 2018

[แชร์ประสบการณ์] เหตุผลในการตัดสินใจเขียนใบลาออกด้วยคำว่า "หมด Passion ในการทำงาน"


          เหตุผลที่จะทำให้มนุษย์เงินเดือนต้องตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่ทำอยู่นั้นมีมากมายหลากหลายข้อ เช่น ความเครียด ความเหนื่อย ความกดดัน ความไม่มั่นคง ความขัดแย้ง 
การขาดแรงจูงใจในการทำงาน การขาดความชัดเจนในการปฏิบัติงาน การไม่เป็นที่ยอมรับ การไม่ก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ การทำงานผิดพลาดเสียหาย หรือ ไม่รักในงานที่ทำอยู่ ฯลฯ



✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨
     
แล้วเหตุผลอะไรล่ะที่ทำให้เรา "หมด Passion ในการทำงาน" ... แล้วคำว่า Passion มันมีความหมายว่าอะไร?

หากไปเปิดดิกชั่นนารี คำว่า "Passion" จะแปลว่า ความหลงใหล ความหลุ่มหลง ความชอบ ความโกรธ กิเลส ตัณหา

Passion เป็นคำภาษาอังกฤษโดยมีรากศัพท์มาจากภาษาละติน Pati 

ซึ่งมีความหมายว่า Pain แปลว่า ความทุกข์ ความเจ็บปวด 

ดังนั้นคำว่า Passion จึงแปลได้หลายอย่างขึ้นอยู่กับบริบทที่นำไปใช้ 

เป็นคำที่สื่อถึงความกระตือรือร้นจากความชอบความหลงใหล หรือ 

ความเจ็บปวดความเกลียด จนกลายเป็นแรงผลักดันจากภายในให้เรากระทำบางสิ่งบางอย่าง

✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨✨


ขอบคุณรูปภาพจาก https://pixabay.com



     เมื่อชีวิตการทำงานเดินมาถึงจุดนึง จุดที่เราไม่ได้รู้สึกยินดี ยินร้าย จุดที่ไร้ซึ่งความรู้สึกต่องานที่ทำ ต่อองค์กรที่อยู่ จึงเป็นสาเหตุให้เรากลับมาพิจารณาตัวเองว่าเราเหมาะสมกับองค์กรหรือไม่ หากงานที่ทำออกมาไม่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งสภาพจิตใจไร้ซึ่งความปรารถนาใด ๆ เราควรลาออกเพื่อไม่เป็นภาระขององค์กรและเพื่อนร่วมงาน 

     โดยเหตุผล 2 ข้อ ที่ทำให้เรา "หมด Passion ในการทำงาน" คือ


1. ทัศนคติ (Attitude) ไม่สอดคล้องกับนโยบายองค์กร : ในทางจิตวิทยา ทัศนคติ คือการแสดงออกถึงความชอบ ความไม่ชอบ ต่อบุคคล สิ่งของ สถานที่ หรือ เหตุการณ์ สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทัศนคติสร้างขึ้นจากประสบการณ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน สามารถเปลี่ยนแปลงได้ สามารถแสดงออกทางอารมณ์และพฤติกรรม 

     หากเรามีทัศนคติที่ไม่สอดคล้องต่อนโยบายขององค์กร หรือ เราไม่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนทัศนคติ เพื่อที่จะอยู่ร่วมกับองค์กรได้ มันจะกลายเป็นความอึดอัด กดดัน ปราศจากความสุขและไร้ซึ่งแรงผลักดันที่จะพาตัวเองตื่นในแต่ละวันไปปฏิบัติงาน


2. ตรรกะ (Logic) ไม่ตรงกับระบบการทำงาน : ตรรกะ คือ ความคิดแบบเป็นระบบ เป็นเหตุ เป็นผล ซึ่งแต่ละคนมีความคิดที่ไม่เหมือนกัน มีเหตุและผลในการคิดการตัดสินใจที่แตกต่างกันออกไป

     การที่เรามีตรรกะไม่ตรงกับระบบการทำงาน ย่อมก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งตามมาได้ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกไม่มีความกระตือรือร้นในการทำงาน ไม่อยากฝืนทำในสิ่งที่เราเห็นว่าไม่สมเหตุสมผล ไม่อยากดันทุรังจนกลายเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับองค์กรและเพื่อนร่วมงาน



   2 เหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเรา เกี่ยวกับระบบความคิดของเราทั้งสิ้น เราเชื่อว่าความคิดส่งผลต่อความรู้สึกและการตัดสินใจ การเปลี่ยนแปลงในวันนี้อาจนำไปสู่จุดเริ่มต้นที่เหมาะสมกับตัวเราในวันข้างหน้า เราแค่ "หมด Passion  ในการทำงาน" แต่เรายังไม่หมดไฟที่จะก้าวต่อไป

   เราเชื่ออีกอย่างหนึ่งว่าการทำงานกับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หน้าที่ใดหน้าที่หนึ่ง ก็เหมือนกับการที่เรามีแฟน ที่จะต้องเรียนรู้ ปรับตัว ทำความเข้าใจ ทำความรู้จักกันไปเรื่อย ๆ พอมาถึงจุดนึงที่มันไปต่อไม่ได้แล้ว เราก็แค่เลิกกันไป แล้วก็ไปเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ก็แค่นั้นเอง ... ❤




     "จะไม่โทษคนอื่นที่ทำไม่ถูกใจเรา แต่จะพาตัวเราไปทำในสิ่งที่เราพอใจ"


Pung′Noey :)











Friday, 23 November 2018

ความจริงมันไม่ได้หายไปไหน ...



ความจริงมันไม่ได้หายไปไหน ... I am here with you.
Photo By : Pung'Noey



เหมือนยามกลางวันที่เราก็รู้ว่ายังมีดวงจันทร์ลอยอยู่


เพียงแค่แสงของดวงอาทิตย์มาบดบังความมืดมิด


จนมองไม่เห็นแสงของดวงจันทร์


เช่นเดียวกันกับความจริง


แม้วันนี้


ความจริงจะยังไม่ถูกเปิดเผย


แต่ความจริงมันก็ไม่เคยจากหายไปไหน


อย่างน้อย ณ วันนี้ เราก็รู้ความจริงอยู่แก่ใจ


เพียงแค่รอเวลาให้ความจริงปรากฏขึ้นมาเท่านั้นเอง







     ⭐ แรงบันดาลใจจากเพลง "ดวงจันทร์กลางวัน (Aftermoon)" 🌜

     🌝 บทความนี้ขอเป็นกำลังใจให้กับ ... ทุกคน 🌝

     🌞 Pung′Noey :)🌞






     

Tuesday, 20 November 2018

[แชร์ประสบการณ์] 4 เทคนิคขั้นพื้นฐานบริหารเงินเดือน (ฉบับมนุษย์เงินเดือนรายได้น้อย)



ขอบคุณรูปภาพจาก https://pixabay.com


          บทความนี้ 
ขออนุญาตแบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวสำหรับการบริหารเงินเดือนในแบบฉบับมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้น้อย ไม่มีรายได้เสริม และ "ไม่ได้เน้นทำแล้วต้องรวย"



สำหรับ 4 เทคนิคขั้นพื้นฐานในการบริหารเงินเดือน ประกอบด้วย



1. รู้จักประเมินตนเองก่อน  นี่คือวิธีแรกที่เราควรสำรวจตัวเองก่อนว่า ณ วันนี้เรามีรายได้เท่าไร มีรายจ่ายเท่าไร จะสามารถเหลือเก็บได้เท่าไร เพราะแต่ละคนมี Fixed Cost ที่ไม่เท่ากัน ภาระทางการเงินที่แต่ละคนต้องรับผิดชอบย่อมแตกต่างกันไป เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าผ่อนบัตรเครดิต ค่าเดินทาง ค่าท่องเที่ยว ค่าใช้จ่ายดูแลลูก ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ซึ่งบางรายจ่ายมันเป็นค่าใช้จ่ายที่ค้ำคอ ไม่จ่ายก็ไม่ได้ พยายามประหยัดขนาดไหนก็ต้องจ่ายอยู่ดี ดังนั้น ...

     การประเมินตนเองที่ดีและได้ผลลัพธ์มากที่สุด คือ ประเมิน ประมาณการ และ วางแผน ก่อนการใช้จ่าย หรือ ก่อนการสร้างหนี้ บางครั้งความอยากได้ อยากมี คือสิ่งที่เราต้องต่อสู้ภายในจิตใจ หากเราเอาชนะใจตัวเองได้ มันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการบริหารชีวิต ซึ่งสมการในการประเมิน คือ

รายได้ - หนี้สิน = ความมั่นคงทางการเงิน


     สมการนี้เป็นสิ่งที่จะสะท้อนว่าความมั่นคงทางการเงินของเราอยู่ในภาวะเสี่ยงหรือไม่ เราควรวางแผนทางการเงินให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานะเงินเดือน สภาวะเศรษฐกิจ ในปัจจุบัน





2. เก็บออมก่อนใช้จ่าย  สำหรับคนมือรั่ว มีเงินเท่าไรก็ใช้หมด นี่คือวิธีหักดิบและถือเป็นการสร้างวินัยที่ได้ผลดีอีกวิธีหนึ่ง ควรเขียนสมการเงินออมไว้ดังนี้ 



รายได้ - เงินออม = ค่าใช้จ่าย


ซึ่งวิธีออมเงินขั้นพื้นฐาน ที่ทุกคนสามารถทำได้นั่นคือ

  • อมเงินโดยเปิดบัญชี เงินฝากประจำ (Fixed Deposit Account) เป็นบัญชีที่เหมาะกับการออมแบบมีระยะเวลาที่แน่นอน เช่น 3 เดือน , 6 เดือน , 24 เดือน เป็นต้น การฝากเงินแต่ละครั้งธนาคารจะกำหนดจำนวนขั้นต่ำไว้ เช่น 1,000 - 10,000 บาท ต่อเดือน มีหลายธนาคารให้คุณได้เลือกฝากประจำแบบปลอดภาษีและใหัอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูง ...

  • ออมเงินโดยการซื้อ สลากออมสิน หรือ สลากออมทรัพย์ ธ.ก.ส. เป็นการฝากเงินประเภทหนึ่งคล้าย ๆ กับการฝากประจำ แถมมีโอกาสได้ลุ้นเงินรางวัลในการถูกสลากอีกด้วย การซื้อสลากเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนเงินให้เป็นสินทรัพย์ นั่นหมายความว่า หากเราไม่อยากถือเงินสดเพื่อลดโอกาสในการใช้จ่าย เราจึงเปลี่ยนรูปเงินสดในมือให้เป็นสินทรัพย์ที่ยังมีมูลค่าเท่าเดิม หากครบกำหนดระยะเวลาในการถือครองเราก็จะได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่ธนาคารกำหนด  แม้ดอกเบี้ยสลากจะไม่สูงจนดูไม่น่าลงทุน ก็ยังถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีในการรู้จักอดทน อดกลั้น รอคอยเวลาในการออมเงิน ... 

  • ออมเงินโดยการ หยอดเงินใส่กระปุกออมสินอย่างน้อยวันละ 20 บาท เป็นการออมเงินระดับเด็กอนุบาลแต่ช่วยให้เรามีชีวิตรอดตอนสิ้นเดือนได้เป็นอย่างดี การออมเงินวิธีนี้สืบเนื่องมาจากพฤติกรรมที่ว่า "เงินเดือนน้อยนิด ชีวิตติดหรู" คือ ช่วงสัปดาห์แรกที่เงินเดือนออก หลังจากหักเก็บเงินออม และเห็นจำนวนเงินเหลือใช้จ่ายแล้ว เราจะฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ จนลืมนึกถึงชีวิตสิ้นเดือน ดังนั้นการหยอดเงินใส่กระปุกอย่างน้อยวันละ 20 - 30 บาท ใช้เวลาเก็บประมาณ 20 วัน มันทำให้เรามีเงินใช้ประมาณ 400-600 บาท เราสามารถนำมาใช้จ่ายช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนเงินออกได้ ถือเป็นการต่อลมหายใจสำหรับชาวมนุษย์เงินเดือน

3. หนี้สินมีต้องรีบใช้ นี่เป็นอีกข้อนึงที่สำคัญในการบริหารเงิน หากเป็นไปได้เราไม่ควรมีหนี้สินที่ต้องชำระต่อเดือนเกิน 40% ของเงินเดือน เช่น เงินเดือน 10,000 บาท ควรมีหนี้ได้ไม่เกิน 4,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 6,000 บาท ควรจะแบ่งไปเป็นเงินเก็บ และ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เราสามารถสร้างหนี้ได้โดยที่เราไม่เดือดร้อน หากเรามีความพร้อมและความรับผิดชอบในการชำระหนี้ การชำระหนี้ให้ตรงต่อเวลานอกจากจะไม่เสียดอกเบี้ยเงินปรับแล้ว ยังถือเป็นการสร้างเครดิตที่ดีให้กับตัวเราเอง

4. ทำใจให้มีสุข รู้หรือไม่? การกล่าวขอบคุณตัวเราเองในทุก ๆ เรื่องที่เราทำได้ในแต่ละวัน มันเป็นการเติมความสุขและเติมกำลังใจให้เราเป็นอย่างดี ร่างกายเราเหนื่อยล้าจากการทำงาน สมองเราเหนื่อยล้าจากการวิเคราะห์ แก้ไข วางแผน ดังนั้น เราไม่ควรเหนื่อยใจให้กับอะไรทั้งสิ้น จิตใจที่เข้มแข็งจะส่งผลต่อสมองและพละกำลัง ไม่ต้องรอเก็บเงินให้ได้หลักล้านแล้วค่อยภูมิใจ ไม่ต้องรอให้หมดหนี้แล้วค่อยพอใจ แต่เราจงภูมิใจและพอใจในทุก ๆ วันที่ลงมือทำ ... "เงินเดือนน้อยค่อย ๆ เก็บ ... ความสุขน้อยค่อย ๆ เติม"




รู้จักประเมินตนเองก่อน

เก็บออมก่อนใช้จ่าย

หนี้สินมีต้องรีบใช้

ทำใจให้มีสุข


Pung′Noey :)


⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐⭐


Sunday, 18 November 2018

"คำดูถูก" คือ แรงผลักล้ม หรือ แรงผลักดัน คุณเลือกได้!!


     คุณเคยเจอไหม? เวลาที่คุณอยากลงมือทำอะไรสักอย่าง หรือ ได้รับโอกาสทำงานสักตำแหน่ง หรือ อยากเรียนในสิ่งที่คุณชอบแต่คนอื่นไม่เห็นด้วย หรือ อยากไปไหน ทำอะไร ตามแต่ใจคุณต้องการ


     แล้วต้องเจอคำพูด คำถาม จากคนรอบข้าง ด้วยประโยคที่ว่า อย่าทำเลยไร้สาระ งานนี้คุณทำไม่ได้หรอก ความสามารถคุณยังไม่ถึงนะ จะเรียนไหวเหรอ ถ้าเรียนจบมาจะหางานได้ไหม เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่าไหม  ... โอ้!! แม่เจ้า นี่ขนาดยังไม่ได้เริ่มก็ท้อใจซะแล้ว



ชีวิตคนเราเหมือนดั่งพระอาทิตย์...มีขึ้นมีตก...ตกแล้วก็ขึ้นใหม่
Photo By : Pung'Noey


     ถ้าคิดแบบขั้นพื้นฐานเราจะรู้สึกว่า เฮ้ย! มาดูถูกฉันทำไมเนี๊ย!! ทำไมไม่ให้โอกาสกันบ้าง!! ไม่คิดจะให้กำลังใจฉันบ้างเหรอ!! ... เราอาจจะรู้สึกอยู่ในภาวะ Paranoid น้อยใจ หมดกำลังใจที่จะลงมือทำหรือเดินต่อ แล้วความรู้สึกแบบ Negative (เชิงลบ) มันก็จะเป็นแรงผลักให้เราล้ม สุดท้าย คำดูถูกของเขามันก็เป็นความจริง

    ถ้าเราไม่อยากได้แรงผลักล้มล่ะ เราต้องทำยังไง? ... งั้น! เรามาลองคิดกันใหม่ค่ะ ลองขยับความคิดมาเป็นขั้น Advance (ก้าวหน้า) เช่น ดีใจจัง! มีคนห่วงใยและหวังดี (แล้วกล่าวขอบคุณเขาเบา ๆ ในใจ) ยิ้มกลับให้เขาสักเล็กน้อย แล้วมาต่อยอดคำพูดของเขาด้วยการสำรวจตัวเราเองว่ายังมีอะไรที่เราต้องเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตัวเอง อีกบ้าง เพื่อที่เราจะแสดงความสามารถ และ ศักยภาพที่เรามี ด้วยความรู้สึกแบบ Positive (เชิงบวก) ให้มันเป็นแรงผลักดันที่จะทำให้เราได้เก่งขึ้น ทำได้ดีขึ้น ประสบความสำเร็จมากขึ้น


     โปรดจำไว้ว่า "คำ(ที่เราคิดว่า)ดูถูก" คือ คำพูดจากคนที่ไม่รู้ว่าเราคิดอะไร และเราก็ไม่จำเป็นต้องบอกทุกความคิดให้คนอื่นเข้าใจ ขอแค่เรารู้จักตัวเอง อย่ากดดันตัวเอง อย่าประเมินค่าตัวเราเองต่ำเกินไป ตั้งใจทำในสิ่งที่เราคิดว่าดีให้มันเป็นรูปธรรมขึ้นมา เมื่อเราลงมือทำอย่างจริงจังและเต็มที่แล้วจงยินดีกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น หากมันจะล้มเหลวก็ขอให้ล้มเหลวโดยการลงมือทำแล้วไม่สำเร็จ ดีกว่าปล่อยให้ล้มเหลวเสร็จตั้งแต่ยังไม่เริ่มลงมือทำ ... ไม่มีใครเกิดมาแล้วเก่ง โดยไม่ได้รับการฝึกฝนหรอกนะคะ ... ✨



"ความสำเร็จเป็นของคนที่ลงมือทำ ไม่ใช่ คนที่คิดจะทำ" 

⭐Let’s do it


Pung′Noey :)

Friday, 16 November 2018

เตรียม!! 3 พร้อม ก่อนลาออกจากงาน


     หลาย ๆ คนมีความคิดที่ "อยากจะลาออกจากงาน" ไม่ว่าจะด้วยเหตุผล อยากทำธุรกิจส่วนตัว เบื่องานประจำ ทะเลาะกับเพื่อนร่วมงาน ทัศนคติไม่ตรงกับเจ้านาย และเหตุผลอีกมากมายหลายประการ


    ก่อนที่คุณจะคิดถึงการลาออก อยากให้คุณตั้งสติ คิดทบทวน ว่าเพราะอะไรคุณถึงอยากลาออก อาจจะเพราะอารมณ์น้อยใจ หรือ เพราะทำงานผิดพลาดไป หรือ เพราะได้รับผิดชอบงานที่ไม่ถนัด หรือ เพราะงานที่ทำอยู่มันหนักเกินไป

ท้องฟ้ายามเย็นยังเห็นเด่นสี เราควรทำชีวีให้เห็นเด่นชัด
Photo By : Pung'Noey

  แล้วพิจารณาต่อไปอีกสักนิดว่า เราจะสามารถแก้ไข ปรับปรุง มันได้ไหม ถ้าเราได้ลองแก้ไขแล้ว ปรับตัวแล้ว ปรับใจแล้ว ก็ยังมีความรู้สึกอยากลาออก เมื่อเป็นเช่นนั้น คุณควรเตรียม 3 พร้อม ก่อนลาออกจากงาน




1. เตรียม "เงิน" ให้พร้อม : เพราะเงินคือสิ่งที่สำคัญในการมีชีวิตรอด หากวันนี้คุณยังมีหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าบัตรเครดิต หรืออะไรก็ตามแต่ คุณควรจะวางแผนการเงินของคุณให้พร้อม ลองคำนวณรายรับ รายจ่าย เงินออมที่ควรจะมีเผื่อฉุกเฉิน อย่างเช่น

  • เงินออมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างว่างงาน เพราะถ้าคุณลาออกจากงาน นั่นหมายความว่าคุณขาดรายได้ทันที คุณควรมีเงินสำรองไว้ใช้จ่ายประมาณ 3 เดือน 6 เดือน ตามแต่คุณจะวางแผนชีวิตไว้


  • เงินออมเพื่อใช้จ่ายยามเจ็บป่วย อุบัติเหตุ หากคุณไม่ได้ทำประกันไว้ หรือคุณอาจว่างงานเกินกว่าจะใช้สิทธิประกันสังคมได้ คุณควรจะเตรียมเงินส่วนนี้สำรองไว้บ้าง


2. เตรียม "รายได้ทางอื่น" ให้พร้อม : หากคุณกำลังจะทำธุรกิจส่วนตัวคุณควรมีแผนธุรกิจ มีเป้าหมายที่ชัดเจน มีลู่ทาง มี Partner / Connection มีฐานลูกค้า และถ้าธุรกิจคุณพร้อม คุณสามารถลาออกจากงานประจำมาลุยมันได้เต็มที่ แต่หากบางคนยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรลองมองหาสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ถนัด เพื่อสร้างมันให้เกิดรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อช่วยประคองยามที่ว่างงาน และ จงจำไว้ว่า "อย่าปล่อยให้เรามีรายได้แค่ทางเดียว เพราะความเสี่ยงมันไม่เลือกเวลาเกิด"


3. เตรียม "ใจ" ให้พร้อม : จิตใจ คือ สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าเงินทอง ทุก ๆ เหตุการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต หรือ เส้นทางที่เราเลือกเดิน ไม่ว่าคุณจะวางแผนเตรียมรับมือไว้หรือไม่ ขอให้คุณเลือกที่จะทำ เลือกที่จะเดิน ด้วยสติ ด้วยหัวใจที่เข้มแข็ง  ทุก ๆ การตัดสินใจในชีวิตมันมีความหมายและมีสิ่งที่ดีรออยู่ 



"อย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง จงกลัวการย่ำอยู่กับที่จะดีกว่า"


Pung′Noey :)

Thursday, 15 November 2018

ฉันอาจไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นนักเขียน (I wasn't born to be a writer)


ฉันอาจไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นนักเขียน

     (I wasn't born to be a writer)

Photo By : Pung'Noey


          เมื่อหลายปีก่อน เคยคิดเอาไว้ว่าอยากหาเวลาว่าง ๆ มาเขียนบทความ ทำ Blog หรืออะไรสักอย่าง อยากเล่าเรื่องราว แชร์ประสบการณ์ นำเสนอมุมมองความคิดของชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งผ่านตัวอักษรและภาพถ่าย



          จนมาถึงวันนี้ วันที่ชีวิตแสนว่างจนน่าตกใจ จึงมีโอกาสหยิบเอาความคิด ความฝัน ความมโนอันยาวไกล มาเริ่มต้นร้อยเรียงใหม่ให้เป็นความจริง



          ฉันยังไม่รู้เลยว่านับจากนี้ มันจะเป็นอย่างไร จะมีคนชอบไหม จะมีใครติดตามหรือเปล่า ฉันหวังเพียงว่า ในทุก ๆ  Blog ที่ฉันพยายามเขียน พยายามจะสื่อสาร ฉันต้องการให้มันมีประโยชน์ต่อผู้อ่านมากที่สุดเท่าที่ฉันจะทำได้



          ฉันอาจไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นนักเขียน แต่ก็อยากลองเขียนตามเส้นทางที่ใฝ่ฝันสักครั้งหนึ่ง




ฝากติดตามผลงานด้วยนะคะ

Pung′Noey : )

3 สิ่งที่ควรได้จากการทำงาน


3 สิ่งที่ควรได้จากการทำงาน


ขอบคุณรูปภาพจาก https://pixabay.com

          

       ไม่อาจปฎิเสธได้ว่า "เงิน" คือ ปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราต้องทำงาน อดทน ต่อสู้ กับสภาวะแวดล้อม การแข่งขัน กับทั้งตัวเองและผู้อื่น


แต่ยังมีอีก 3 สิ่ง ที่เราควรได้จากการทำงาน 

เพื่อใช้พัฒนาตัวเราเองในอนาคต




1. โอกาส (Opportunity)  :  เมื่อเราได้รับมอบหมายงานใด จงทำมันให้ดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุด จงจำไว้ว่าในทุก ๆ งานที่เราทำมันคือโอกาสสำคัญของชีวิต เพราะการได้ลงมือทำ มันจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ ความเข้าใจ ความชำนาญ และพัฒนาไปจนถึงการต่อยอดความก้าวหน้า





2. ประสบการณ์ (Experience)  :  เกิดจากสิ่งที่เรากระทำ สิ่งที่เราพบเห็น ซึ่งประสบการณ์เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาจากการเรียนรู้ หากเราทำงานอย่างเต็มที่ด้วยสมองและพลังใจ มันก็จะสะสมเป็นประสบการณ์ที่ดีใหักับเรา เหมือนคำกล่าวที่ว่า "เรากระทำสิ่งใด เราก็จะได้สิ่งนั้นตอบแทน"




3. ผลตอบแทน (Expected Return)  :  มันคือสิ่งที่เราคาดหวังไว้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ว่าเราควรได้อะไรจากการลงมือทำบางสิ่งบางอย่าง เราควรนำโอกาสที่เราได้ ประสบการณ์ที่เรามี มาแลกเปลี่ยนให้มีมูลค่า อาจเป็นในรูปแบบของเงินตรา ตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือความรู้ที่จะพาเราไปสู่อีกจุดนึงของชีวิต




"ถ้าเรารักงานที่เราทำไม่ได้ อย่างน้อยจงรักตัวเองด้วยการคว้าความรู้ให้ได้มากที่สุด"

Pung′Noey :)